แผนธุรกิจ

-
แผนธุรกิจ Business Plan


การเขียนแผนธุรกิจ และ องค์ประกอบของแผนงานธุรกิจ
แผนงานธุรกิจเป็นการบอกเล่าถึงกระบวนการที่จะได้มาซึ่งกำไรจากการประกอบการ ซึ่งถ้าวิเคราะห์กำไรแล้วจะพบว่ากำไรมาจากรายได้หักลบด้วยค่าใช้จ่าย ดังนั้นจึงควรเริ่มเขียนแผนงานธุรกิจจากการนำเสนอข้อมูลจากการวิเคราะห์วิจัยตลาดเพื่อแสดงถึงโอกาสในการสร้างรายได้ก่อนรายการอื่น อันจะสามารถจูงใจผู้ให้กู้ร่วมลงทุนให้สนใจธุรกิจนี้ และเห็นพ้องต้องกันกับผู้ประกอบการว่าแผนงานธุรกิจนี้สามารถเป็นจริงได้ในทางปฏิบัติ และมีโอกาสประสบความสำเร็จได้
แผนงานธุรกิจโดยทั่วไปไม่ควรมีความยาวเกิน 100 หน้า เนื้อหาได้ใจความครบถ้วนแต่กระชับไม่เยิ่นเย้อจนเกิดความเบื่อหน่ายแก่ผู้อ่าน จัดทำขึ้นในรูปแบบที่เรียบร้อย อ่านง่าย เป็นระเบียบ และที่สำคัญที่สุดคือ แผนงานธุรกิจต้องมีองค์ประกอบที่สมบูรณ์ มีรายละเอียดเพียงพอให้เข้าใจและดึงดูดใจทุกฝ่ายที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเริ่มต้นประกอบการธุรกิจขนาดย่อมครั้งนี้
1. ปกหน้าและสารบัญ
ปกหน้าเป็นสิ่งแรกที่ผู้อ่านแผนงานธุรกิจจะได้เห็น จึงควรมีชื่อของธุรกิจรวมทั้งที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ หมายเลขโทรสาร และที่อยู่ทาง E- Mail ( ถ้ามี ) อยู่ด้วย เพื่อความสวยงามควรมีตราหรือสัญลักษณ์ของธุรกิจประทับอยู่ให้สะดุดตาน่าสนใจ นอกจากนั้นอาจมีชื่อที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ประกอบการอยู่ด้วย เพื่อความสะดวกในการติดต่อกลับ ตลอดจนการแจ้งวันเวลาโดยประมาณที่คาดว่าธุรกิจนี้จะสามารถเริ่มต้นดำเนินการได้
ส่วนสารบัญมีไว้เพื่อความสะดวกในการค้นหารายละเอียดของแผนงานธุรกิจได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งจะมีประโยชน์มากในขั้นตอนการเจรจาต่อรองกับบุคคลภายนอก เพราะทั้งผู้ประกอบการและอีกฝ่ายหนึ่งสามารถยืนยันข้อมูลและซักถามในประเด็นต่าง ๆ โดยอ้างอิงเอกสารซึ่งกันและกันได้ง่ายขึ้น
2. บทสรุปของการบริหาร
บทสรุปของการบริหาร เป็นแผนงานธุรกิจทั้งหมดที่ถูกย่อให้เหลือแค่ 1-2 หน้า เพื่อให้เป็นภาพอันชัดเจนของธุรกิจที่จะถูกจัดตั้งขึ้น บทสรุปของผู้บริหารควรเขียนให้ดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน ซึ่งจะทำให้อยากอ่านรายละเอียดของแผนงานธุรกิจทั้งหมดที่เหลือ เนื้อหาของบทสรุปของการบริหารจะเกี่ยวข้องกับ
2.1 แนวคิดและขอบเขตของธุรกิจ โดยแสดงให้เห็นว่าสินค้าหรือบริการที่จะนำสนอแก่ลูกค้าสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าเหนือกว่าคู่แข่งขันอย่างไร คุณสมบัติพิเศษของสินค้าหรือบริการเป็นอย่างไรในด้านประโยชน์ใช้สอย รูปลักษณ์ คุณภาพ ความคงทน ฯลฯ ธุรกิจจะก่อตั้งเมื่อไรหรือก่อตั้งมาแล้วนานเพียงใด ขนาดของธุรกิจใหญ่เพียงใด และมีโอกาสในการก้าวหน้าพัฒนาตนเองอย่างไรบ้าง
2.2 โอกาสทางการตลาด โดยระบุถึงขนาดและอัตราการเจริญเติบโตของตลาดโดยประมาณ ส่วนแบ่งตลาดที่คาดว่าธุรกิจจะสามารถครองได้ สภาพของการแข่งขัน และแนวโน้มของอุตสาหกรรมนั้นทั้งหมด
2.3 กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย โดยมีนิยามกลุ่มลูกค้าเป้าหมายอย่างชัดเจนเพื่อกำหนดกลุ่มลูกค้าหลักของธุรกิจ ขนาดและอัตราเติบโตของลูกค้ากลุ่มนี้ การวางตำแหน่งสินค้าและบริการในท้องตลาด
2.4 ความได้เปรียบเชิงแข่งขันของธุรกิจ ซึ่งเป็นจุดเด่นที่ธุรกิจมีเหนือกว่าคู่แข่งขันทั้งในด้านต้นทุน ความแตกต่างของสินค้าหรือบริการ และลักษณะเฉพาะตัวของสินค้าหรือบริการที่เป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าเป้าหมายเฉพาะกลุ่ม
2.5 ข้อมูลทางการเงิน จะประกอบด้วยการพยากรณ์การขายใน 3 ปีแรกของการดำเนินงาน การลงทุนด้วยส่วนของเจ้าของและหนี้สินในระยะยาว ( ถ้ามี ) กำไรที่คาดหวัง ระยะเวลาในการคืนทุน อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน
2.6 ทีมงานบริหาร โดยชี้แจงโครงสร้างของบุคลากรทั้งหมด ซึ่งจะเน้นหนักในตัวผู้ประกอบการเป็นส่วนสำคัญ โดยสรุปความรู้ความชำนาญ ตลอดจนประสบการณ์ของผู้ประกอบการซึ่งจะเป็นผู้บริหารธุรกิจขนาดย่อมนี้ด้วย รวมไปถึงความสำเร็จในอดีตที่เคยทำได้
2.7 ข้อเสนอของธุรกิจ ระบุถึงเงินกู้หรือเงินลงทุนที่ต้องการเพิ่มพัฒนาธุรกิจและผลตอบแทนที่จะเสนอให้แก่ผู้สนใจให้สนใจให้กู้ยืมหรือร่วมลงทุน
3. องค์การธุรกิจและอุตสาหกรรม
3.1 การเกริ่นนำเกี่ยวกับปูมหลังของธุรกิจตั้งแต่แรกเริ่ม ในด้านรูปแบบของธุรกิจ แนวทางการดำเนินงานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งความสำเร็จและล้มเหลวที่ประสบมา
3.2 สภาพของอุตสาหกรรมโดยรวม โดยพิจารณาถึงประเภทของอุตสาหกรรมที่ธุรกิจนั้นเกี่ยวข้องอยู่ เช่น ธุรกิจการผลิตผ้าไหมจะเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสินค้าที่ระลึกและอุตสาหกกรมท่องเที่ยว นอกจากนั้นจะต้องคำนึงถึงโครงสร้างของอุตสาหกรรมนั้น ซึ่งประกอบด้วยธุรกิจและคู่แข่งขันอื่น ๆ ตลอดจนการระบุถึงอัตราแนวโน้มการเจริญเติบโต และปัจจัยแวดล้อมภายนอกที่ส่งผลกระทบถึงอุตสาหกรรมโดยรวม เนื่องจากวิวัฒนาการของเทคโนโลยีอาจทำให้เกิดอุตสาหกรรมสินค้าหรือบริการใหม่ที่สามารถใช้ทดแทนกันได้ จึงควรกล่าวถึงไว้ด้วย
4. สินค้าและบริการ
4.1 รายละเอียดของสินค้าและบริการที่นำเสนอในแง่มุมประโยชน์ใช้สอย หน้าที่พิเศษหรือคุณสมบัติที่เหนือกว่าสินค้าและบริการของคู่แข่ง
4.2 ถ้ามีสินทรัพย์ทางปัญญาที่เกี่ยวข้อง เช่น สิทธิบัตร ควรระบุไว้ด้วย
4.3 โอกาสในการขยายสายผลิตภัณฑ์ ตลอดจนพัฒนาสินค้าหรือบริการให้หลากหลาย ครบถ้วนตามที่ลูกค้าต้องการ
4.4 ถ้าสินค้าที่นำเสนอเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ไม่เคยมีมาในท้องตลาด ควรมีรูปแสดงให้เห็นลักษณะของสินค้าหรือตัวต้นแบบด้วย
4.5 ประเมินศักยภาพของสินค้าและบริการในแต่ละช่วงของวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์
4.5.1 ถ้าสินค้าอยู่ในช่วงแนะนำของวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ หรือประดิษฐกรรมใหม่ต้องมีความโดดเด่นในประโยชน์ใช้สอย ช่วงนี้ศักยภาพทางการตลาดของผลิตภัณฑ์จะค่อนข้างต่ำ เพราะสินค้ายังไม่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย
4.5.2 ถ้าสินค้าอยู่ในช่วงเจริญเติบโตของวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ ศักยภาพทางการตลาดของผลิตภัณฑ์จะสูง เพราะสินค้าเป็นที่รู้จักกันดีแล้ว แต่ต้องมีราคาที่ต่ำพอที่จะแข่งขันในตลาดได้ เนื่องจากเริ่มจะมีการแข่งขันภายในอุตสาหกรรมเดียวกันมากขึ้น
4.5.3 ถ้าสินค้าอยู่ในช่วงอิ่มตัวของวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ ศักยภาพทางการตลาดของผลิตภัณฑ์จะอยู่ในระดับปานกลาง เพราะการแข่งขันจะสูงมาก แต่ถ้าสินค้ามีจุดเด่นที่จะเข้าสู่ตลาดแตกต่างจากผู้อื่น และเป็นจุดเด่นที่สนองความต้องการของลูกค้าเฉพาะกลุ่มที่มีขนาดกลุ่มใหญ่เพียงพอ ก็สามารถประคองตัวอยู่ในอุตสาหกรรมนั้นได้
4.5.4 ถ้าสินค้าอยู่ในช่วงลดลงของวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ ศักยภาพทางการตลาดของผลิตภัณฑ์จะอยู่ในระดับต่ำ เพราะสินค้านั้นเริ่มถูกทดแทนได้ด้วยสินค้าอื่น ทำให้ยอดขายโดยรวมทั้งอุตสาหกรรมตกลง จึงไม่ควรนำสินค้าเข้าตลาดในช่วงนี้
5. การวิจัยตลาด
แม้ว่าการวิจัยตลาดจะอยู่ในระดับกลางของการเขียนแผนงานธุรกิจ แต่จะต้องเตรียมการเป็นลำดับต้นในการดำเนินการแสวงหาและเก็บรวบรวมข้อมูลจากหลาย ๆ แหล่ง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ตัวผู้ประกอบการเองและบุคคลภายนอก เช่น ผู้ให้กู้ ว่าธุรกิจมีขนาดของตลาดใหญ่พอเพียง และสามารถทำกำไรให้ในระดับที่น่าพอใจ ข้อมูลจากการวิจัยตลาดนี้จะถูกใช้ในการเขียนแผนงานธุรกิจทั้งหมด ดังนั้นในการวิจัยตลาดจะต้องครอบคลุมข้อมูลต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
5.1 ลูกค้าในตลาดเป้าหมาย (Target Market Segment) ในด้านลักษณะพฤติกรรมการซื้อและการใช้ ข้อมูลทางประชากรศาสตร์ของลูกค้า ขั้นตอนการตัดสินใจซื้อ ตัวแปรที่ใช้ในการพิจารณาเลือกซื้อ ฯลฯ
5.2 ขนาดของตลาดในปัจจุบันและอนาคต ภายในช่วงระยะเวลา 5 ปี รวมทั้งการคาดหมายอัตราการเติบโตของตลาดโยรวมอย่างน้อย 3 ปี ภายใต้สภาวะแวดล้อมภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ เช่นเศรษฐกิจ นโยบายรัฐบาล ฯลฯ
5.3 การแข่งขันของธุรกิจในท้องตลาดทั้งที่เป็นสินค้าที่เหมือนกันและสินค้าทดแทนโดยพิจารณาลึกลงไปในรายละเอียดในด้านส่วนแบ่งตลาด ราคา คุณภาพ บริการเสริมสินค้า การรับประกัน การส่งมอบ ฯลฯ
5.4 ยอดขายประมาณการ โดยทำการพยากรณ์ยอดขายรวมของอุตสาหกรรม แล้วคำนวณตามร้อยละของส่วนแบ่งตลาดที่ธุรกิจคาดว่าจะครองได้
6. การประเมินศักยภาพทางการตลาด
หลังจากทำการวิจัยจนมีความเข้าใจอย่างชัดเจนถึง “ลูกค้าเป้าหมาย” “ขนาดของตลาด” และ “การแข่งขัน” ดีแล้วจะสามารถทำการประเมินศักยภาพทางการตลาดได้ ซึ่งศักยภาพทางการตลาดก็เป็ฯจุดเริ่มต้นของกระบวนการดำเนินงานทั้งหลาย เพราะการเริ่มต้นดำเนินธุรกิจต้องมีความมั่นใจในรายได้ที่จะรับเข้ามาในระดับหนึ่งที่พอเพียงให้ธุรกิจมีกำไรอยู่รอดได้ในขั้นต้น และมีกระแสเงินหมุนเวียนเข้ามาหล่อเลี้ยงสภาพคล่องของธุรกิจมิให้หยุดสดุดลงในขั้นต่อไปกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เป็นกลุ่มลูกค้าหลักส่วนใหญ่ของธุรกิจซึ่งสามารถระบุได้โยการจำแนกตามอายุ พฤติกรรมการซื้อการใช้ เขตพื้นที่ตามภูมิศาสตร์ ซึ่งกลุ่มลูกค้าเป็ษหมายมีความต้องการที่จะซื้อสินค้าและบริการที่ธุรกิจนำเสนอ เช่น กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของร้านซักรีดที่ซอยโชคชัย 4 ถนนลาดพร้าว เป็นกลุ่มคนที่อยู่คอนโดมิเนียมหรือแฟลตในซอยโชคชัย 4 ซอยเสนานิคม และซอยอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง
ขนาดของตลาด เป็นจำนวนยอดขายที่พยากรณ์คร่าว ๆ ซึ่งอาจจะนับเป็นจำนวนลูกค้าหรือจำนวนเงินก็ได้ ขนาดของตลาดควรใหญ่พอเพียงที่ธุรกิจจะลงทุน นอกจากนั้นผู้ประกอบการควรคำนึงถึงส่วนแบ่งตลาด ( Market share) ที่จะได้เมื่อเทียบกับทั้งอุตสาหกรรมว่าจะสามารถครองส่วนแบ่งตลาดได้สักกี่เปอร์เซนต์ถ้าทั้งอุตสาหกรรมคิดเป็น 100 %
การแข่งขัน เป็นการเปรียบเทียบธุรกิจที่ดำเนินการกับธุรกิจอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกันโดยใช้ SWOT Analysis ดังต่อไปนี้
S-Strength จุดแข็งของธุรกิจ เช่นผู้ประกอบการมีประสบการณ์การผลิตมานานคุณภาพสินค้าดีกว่าของคู่แข่ง
W-Weakness จุดอ่อนของธุรกิจ เช่นเงินทุนประกอบการมีน้อย ทำเลที่ตั้งไม่เหมาะสม ราคาสินค้าแพงกว่าคู่แข่ง
O-Opportunity โอกาสของธุรกิจ เช่นมีแหล่งวัตถุดิบราคาถูก รู้จักกับตัวแทนจำหน่ายมากมาย
T-Threat อุปสรรคของธุรกิจ เช่น ลูกค้ามีความจงรักภักดีต่อตรายี่ห้อของคู่แข่งมากเปลี่ยนทัศนคติยาก
7. แผนงานการตลาด
แนวคิดที่ใช้ในการวางแผนงานการตลาด หรือแนวทางการบริหารการตลาดเป็นวิถีทางที่ธุรกิจแต่ละแห่งจะใช้เป็นแม่บทในการวางแผนและดำเนินงานของธุรกิจทั้งหมด แนวทางต่าง ๆ มีอยู่ดังต่อไปนี้
7.1 แนวคิดที่เน้นการผลิต (Production ? oriented) การบริหารจะเน้นทางการผลิตและตัวผลิตภัณฑ์เองมากที่สุด การผลิตต้องมีการดำเนินงานที่ดีมีคุณภาพจะขายได้ กิจกรรมอื่น ๆ ของธุรกิจ เช่น การส่งเสริม การจำหน่าย การกระจายสินค้า จะถูกจำกัดบทบาท เพราะไม่มีความสำคัญเท่ากับการผลิต ผลิตภัณฑ์ให้ดีที่สุด
7.2 แนวคิดที่เน้นการขาย (Sales- oriented ) การบริหารที่เน้นการผลิตจะถูกลดบทบาทลง นโยบายการตลาดเน้นว่าต้องพยายามผลักดันให้ลูกค้าซื้อผลิตภัณฑ์ให้มากที่สุด การส่งเสริมการขาย การโฆษณาและการกระตุ้นการขายโดยวิธีอื่น ๆ จะมีความสำคัญมาก
7.3 แนวคิดที่เน้นผู้บริโภคเป็นหลัก หรือแนวคิดที่เน้นการตลาด (Consumer- oriented or Marketing-Oriented) กล่าวว่าการตลาดเริ่มและจบลงที่ลูกค้า ธุรกิจต้องนำเอาความต้องการของลูกค้ามาใช้เป็นแนวทางในการผลิต พร้อมทั้งการตั้งราคาที่เหมาะสม การส่งเสริมการขายที่ดึงดูดใจลูกค้าได้ การจัดจำหน่ายที่ทั่วถึง ฯลฯ เพื่อให้ลูกค้าซื้อผลิตภัณฑ์ในที่สุด
แนวคิดการบริหารการตลาดที่เหมาะสมกับธุรกิจขนาดย่อมมากที่สุด คือ แนวคิดที่เน้นผู้บริโภคเป็นหลัก ไม่ว่าลูกค้าจะมีความต้องการอย่างไร
ถ้าธุรกิจสามารถตอบสนองได้ก็จะถือได้ว่ามีการเกิดโอกาสทางธุรกิจขึ้น แม้ว่าตลาดที่ธุรกิจสามารถตอบสนองได้จะมีขนาดไม่ใหญ่โตมากนัก แต่ก็เป็นข้อดีที่ทำให้ไม่มีใครอยากเข้ามาแข่งขันมากมาย อย่างไรก็ดีต้องมั่นใจว่าขนาดของตลาดเพียงพอและคุ้มค่าต่อการลงทุน ส่วนอีกสองแนวคิดนั้นค่อนข้างจะต้องการเงินทุนจำนวนมากซึ่งไม่เหมาะกับธุรกิจขนาดย่อม และไม่เหมาะกับสภาวการณ์ของธุรกิจอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ล้วนมุ่งให้ลูกค้าเกิดการพึงพอใจสูงสุด ไม่ใช่มุ่งไปที่การผลิตหรือการขายที่เป็นกิจกรรมภายในองค์การธุรกิจเอง
ในแผนงานธุรกิจ การวางแผนงานการตลาดจะแบ่งออกเป็นหัวข้อดังต่อไปนี้
1. การตั้งราคา ( Pricing) การกำหนดราคาที่ถูกต้องไม้ใช่เพียงแต่สามารถชดเชยต้นทุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ได้ แต่ต้องเปรียบเทียบกับราคาของคู่แข่งขันในท้องตลาดด้วย ในการเริ่มต้นดำเนินการธุรกิจขนาดย่อมมักจะใช้วิธีเสนอราคาของคู่แข่งขันในท้องตลาด แต่ต้องไม่ลืมว่าถ้าจะตั้งราคา ควรมีต้นทุนรวมที่ต่ำด้วย
2. การส่งเสริมการจำหน่าย (Promotion) ถ้าเป็นสินค้าอุตสาหกรรมอาจใช้วิธีการโฆษณาตามนิตยสารเกี่ยวกับธุรกิจอุตสาหกรรมนั้น รวมทั้งการขายทางไปรษณีย์ หรือการแจกแผ่นพับ แต่ถ้าเป็นสินค้าอุปโภคทั่วไป อาจใช้วิธีโฆษณาและส่งเสริมการขายโดยบุคคลหรือผ่านร้านค้าตัวแทนจำหน่าย หรือการขายตรงด้วยวิธีต่าง ๆ รวมทั้งการโฆษณาขายบนอินเตอร์เนต
3. การกระจายสินค้า (Place) ธุรกิจขนาดย่อมมักใช้วิธีการกระจายสินค้าโดยส่งตัวแทนจำหน่ายอิสระมากกว่าที่จะตั้งทีมพนักงานขายขึ้นเอง เพราะแม้จะควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างของตัวแทนจำหน่ายอิสระไม่ได้ แต่ก็สามารถวางสินค้าให้แพร่หลายได้โดยมีต้นทุนที่ต่ำและขจัดปัญหาเกี่ยวกับการจัดการบุคลากรได้บ้างบางส่วน
4. นโยบายการบริการ (Service Policy) ธุรกิจขนาดย่อมต้องตัดสินใจว่าควรดำเนินการบริการหลังการขายเอง (ควบคุมได้แต่ต้นทุนสูง) หรือใช้บริการจากที่อื่นโดยทำสัญญากับบริษัทบริการ (ควบคุมไม่ได้แต่ต้นทุนต่ำ) หรือส่งคืนให้โรงงานผู้ผลิตรับผิดชอบ (ต้นทุนต่ำสุดแต่การบริการไม่ดีและใช้เวลานาน)
8. แผนงานการผลิต/ ปฎิบัติการ
แผนการผลิตและปฏิบัติการที่ดีต้องสะท้อนความสามารถขององค์กรใน “การจัดการกระบวนการผลิตและปฏิบัติการให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล” เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับธุรกิจ โดยมุ่งเน้นประเด็นการจัดการไปยังกระบวนการแปลงสภาพวัตถุดิบและทรัพยากรในการผลิตในการวางแผนปฏิบัติการ ผู้ประกอบการต้องพิจารณาตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการผลิตตามประเด็นที่สำคัญ คือ 1. คุณภาพ
2. การออกแบบสินค้าและบริการ
3. การออกแบบกระบวนการผลิต และการตัดสินใจเรื่องกำลังการผลิต
4. การออกแบบผังของสถานประกอบ
5. การการออกแบบระบบงาน และวางแผนอัตรากำลังคนในกระบวนการผลิต
ในส่วนของการผลิตสินค้า การวางแผนงานการผลิตเป็นการดูแลควบคุมปัจจัยนำเข้าประเภทวัตถุดิบ ชิ้นส่วนอะไหล่ แรงงาน และพลังงานรูปแบบต่าง ๆ เพื่อป้อนเข้าสู่กระบวนการแปรสภาพให้กลายเป็นสินค้าสำเร็จรูปที่ต้องการในแต่ละขั้นตอน ตลอดจนการจัดการสินค้าคงคลังเพื่อการควบคุมปริมาณสินค้าให้สามารถบริการลูกค้าได้รวดเร็วทันใจที่สุดและมีต้นทุนที่ต่ำ ส่วนการผลิตการบริการ การวางแผนงานการผลิตต้องเน้นประสิทธิภาพของบุคลากร ระบบการจัดลำดับงาน และความพึงพอใจของลูกค้าเป็นสำคัญ
รายละเอียดในแผนงานการผลิตควรครอบคลุมถึง
8.1 รอบการผลิต โดยแยกรอบการผลิตในฤดูกาลกับนอกฤดูกาลให้เห็นชัดเจน เพื่อเป็นฐานข้อมูลของการจัดการวัตถุดิบและชิ้นส่วน รวมทั้งการว่าจ้างแรงงานเพิ่มเติมในช่วงที่ต้องการ
8.2 ทำเลที่ตั้งที่สะดวกที่สุดในการผลิต ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตรวมต่ำที่สุดในระยะยาว
8.3 เครื่องจักรอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกและสาธารณูปโภค ซึ่งมีใช้อยู่ในปัจจุบันและที่ต้องการในอนาคตเพิ่มเติมขึ้นภายใน 3 ปี ข้างหน้า
8.4 กลยุทธ์การดำเนินงานด้วยเทคนิคการผลิต การควบคุมคุณภาพ การควบคุมสินค้าคงคลัง การควบคุมต้นทุนการผลิต การจัดตารางเวลาและลำดับงาน รวมทั้งการประสานงานให้ทุกกิจกรรมการผลิตดำเนินไปอย่างสอดคล้องกัน
9. ทีมงานบริหาร
ทีมงานผู้บริหารที่ดีเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจเป็นรูปร่างและประสบผลสำเร็จ ซึ่งประกอบด้วยผู้จัดการและพนักงานระดับหัวหน้ารองลงมาที่มีความรู้ความชำนาญด้านเทคนิคเฉพาะทางที่สำคัญต่อการดำเนินงาน พร้อมทั้งความสามารถในด้านการบริหารที่นำธุรกิจไปสู่ความสำเร็จ ทีมงานที่ดีควรมีผู้บริหารครบถ้วนในแต่ละด้าน แต่สำหรับธุรกิจขนาดย่อมที่เพิ่งเริ่มต้น ทีมงานผู้บริหารอาจประกอบไปด้วยคนจำนวนน้อย หรือเพียงผู้ประกอบการคนเดียวทำงานเกือบทุกหน้าที่ การเริ่มต้นธุรกิจขนาดย่อมผู้บริหารจะเน้นหนักในหน้าที่ด้านการตลาดหรือการผลิตซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญที่สุดในช่วงก่อร่างสร้างฐานะ
ทีมงานผู้บริหารในธุรกิจขนาดย่อมแบบห้างหุ้นส่วนซึ่งประกอบด้วยผู้ที่มีความสามารถแตกต่างกันแต่ละแขนง จะเป็นการสร้างทีมงานที่ดีได้เช่นเดียวกันหลายคน เช่น ผู้ชำนาญการด้านบัญชีอยู่ 2-3 คน ก็ควรจะใช้ความสามารถเฉพาะตัวของแต่ละคนให้ทำหน้าที่ที่ไม่ซ้ำซ้อนกัน เช่น คนหนึ่งควบคุมบัญชีรายรับ-รายจ่ายและทำงบการเงิน อีกคนควบคุมสต๊อกสินค้าคงคลังและทำการจัดซื้อ เป็นต้น
แม้ทีมงานผู้บริหารในระยะเริ่มต้นต้องทำงานหนักมากเพราะเป็นช่วงก่อร่างสร้างตัวของธุรกิจขนาดย่อม แต่ผลตอบแทนจะค่อนข้างน้อยกว่าที่ควรได้ เพราะธุรกิจในระยะเริ่มต้นไม่มีรายได้มากนัก แต่มีรายจ่ายในการลงทุนมากมาย ผู้บริหารในช่วงการเริ่มต้นธุรกิจขนาดย่อมจึงต้องเป็นผู้ที่มีความมานะพยายาม ขยันหมั่นเพียร และยินดีจะเสียสละผลประโยชน์ของตนเองเพื่อความเจริญก้าวหน้าของธุรกิจอีกด้วย
รายละเอียดทีมงานผู้บริหารควรจะระบุถึง
9.1 โครงสร้างองค์การและตำแหน่งบริหารหลักโดยระบุผู้รับผิดชอบงานแต่ละด้าน
9.2 ผลตอบแทนที่ให้แก่ผู้บริหารทั้งในรูปของเงินเดือน ส่วนแบ่งกำไร และสวัสดิการจากธุรกิจ
9.3 ผู้ร่วมลงทุนที่ไม่ใช่ผู้บริหารและผลตอบแทนที่ให้
9.4 ที่ปรึกษาและบริการด้านวิชาชีพที่ต้องการใช้
10. ตารางเวลาโดยรวมของธุรกิจ
ตารางเวลาจะแสดงถึงเวลาในการทำงานและความสัมพันธ์ของกิจกรรมต่าง ๆ ในการเริ่มต้นการประกอบการธุรกิจขนาดย่อม เพื่อให้ความสัมพันธ์ของงานในขั้นตอน ก่อน-หลัง และควรระมัดระวังกิจกรรมหรืองานที่จะส่งผลให้การทำงานทั้งหมดล่าช้าลงได้
11. ความเสี่ยงที่ต้องเผชิญและสมมติฐานต่าง ๆ
ผู้ประกอบการบางคนอาจมองโลกในแง่ดีเกินไปว่า การทำธุรกิจนั้นมีโอกาสประสบความสำเร็จและได้ผลตอบแทนทางการเงินเป็นจำนวนมากจึงอาจจะลืมคิดถึงความเสี่ยงที่ต้องเผชิญการประกอบธุรกิจต้องมีความเสี่ยงเข้ามาเกี่ยวข้องมากมายหลายประการ เช่น สภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำจะส่งผลกระทบในด้านลบแก่ธุรกิจ ประเภทของธุรกิจไม่เหมาะสมกับความต้องการของตลาดในปัจจุบันและอนาคต ฯลฯ ซึ่งเป็นความเสี่ยงจากสภาพแวดล้อมภายนอกธุรกิจ นอกจากนั้นยังมีความเสี่ยงจากองค์ประกอบภายในของธุรกิจเองอีกเช่น เกิดปัญหาด้านบุคลากร หรือปัญหาด้านการเงิน เป็นต้น เราจึงควรระบุถึงความเสี่ยงธุรกิจที่อาจเกิดขึ้นและการเตรียมความพร้อมที่ควรระบุไว้ในแผนฉุกเฉิน ในกรณีต่างๆ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
11.1 การพยากรณ์การขายมีความเชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด บางครั้งการพยากรณ์การขายที่เกินความจริง คือยอดขายต่ำกว่าที่พยากรณ์เอาไว้จะทำให้ธุรกิจประสบปัญหาด้านการเงิน แต่การพยากรณ์การขายที่ต่ำกว่าความเป็นจริงซึ่งมียอดขายจริงสูงกว่าที่พยากรณ์เอาไว้ก็อาจสร้างปัญหาการเร่งงานในระบบการผลิต การจัดหาวัตถุดิบมาป้อนกระบวนการผลิตได้ไม่เพียงพอการว่าจ้างพนักงานและการจัดงานให้แก่คนงานไม่พอดีกับปริมาณคน และลูกค้าอาจเกิดความไม่พอใจที่ต้องรอสินค้าหรือบริการนานเกินควร
11.2 ความสามารถของคู่แข่งขันที่จะตัดราคาหรือทำให้สินค้าของธุรกิจล้าสมัย ผู้นำตลาดโดยเฉพาะธุรกิจข้ามชาติที่มีเทคโนโลยีทันสมัยมักจะมีเงินทุนมากพอที่จะทุ่มตลาดทำลายระดับราคาตลาดของสินค้าชนิดนั้น และมีวิวัฒนาการในการปรับปรุงผลิตภัณฑ์สูงมาก
11.3 แนวโน้มของอุตสาหกรรมที่ค่อนข้างจะตกต่ำลงในระยะยาว ดังเช่นผลิตภัณฑ์นั้นมีสินค้าใหม่ที่ใช้ทดแทนกันได้หรืออุปสงค์ของผลิตภัณฑ์นั้นลดลงเพราะความนิยมหมดไป
11.4 คนงานที่มีความเชี่ยวชาญหายากในระยะยาว เช่น งานหัตกรรมที่อาศัยความเชี่ยวชาญสูงมักขาดผู้สืบทอดฝีมือ เพราะคนรุ่นใหม่มักไม่ชอบทำงานลักษณะนี้
11.5 ความขาดแคลนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเนื่องจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือสาเหตุอื่นๆ
ยอดขาย/เก็บเงินจากลูกหนี้ไม่ได้ตามคาดหมาย ทำให้เงินสดหมุนเวียนขาดสภาพคล่อง และธนาคาร ไม่ให้วงเงินกู้หรือลดวงเงินกู้
คู่แข่งตัดราคาหรือจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่องระยะยาว
มีคู่แข่งรายใหม่ที่มีขนาดใหญ่กว่า ทันสมัยกว่า มีสินค้าครบถ้วนกว่า ราคาถูกกว่า เข้าสู่อุตสาหกรรม
หรือมาตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียง
สินค้าถูกลอกเลียนแบบและขายในราคาที่ถูกต้อง
สินค้าผลิตไม่ทันตามคำสั่งซื้อเนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบ
สินค้าผลิตมากจนเกินไป ทำให้มีสินค้าในสต็อกเหลือมาก
ต้นทุนการผลิต/การจัดการสูงกว่าที่คาดไว้
เกิดการชะงักการเติบโตของทั้งอุตสาหกรรม
มีปัญหากับหุ้นส่วนจนไม่สามารถร่วมงานกันได้
12. ประโยชน์ต่อชุมชน
ธุรกิจขนาดย่อมที่มีอนาคตอันสดใส คือ ธุรกิจเอื้ออำนวยผลประโยชน์แก่ชุมชนและผู้ที่เกี่ยวข้องรอบด้าน เช่น ผู้ถือหุ้น ลูกจ้าง ผู้ขายวัตถุดิบ ผู้รับจ้างและให้บริการ ฯลฯ ประโยชน์ต่อชุมชนที่ธุรกิจขนาดย่อมสามารถสร้างขึ้นคือ
12.1 การพัฒนาเศรษฐกิจ ได้แก่ การว่าจ้างแรงงาน การซื้อวัตถุดิบจากแหล่งชุมชน ฯลฯ
12.2 การพัฒนาชุมชน ได้แก่ การนำเสนอสินค้าและบริการที่สามารถตองสนองความต้องการของผู้คนในระแวกนั้น การยกระดับมาตรฐานการครองชีพของชุมชน ฯลฯ
12.3 การพัฒนามนุษย์ ได้แก่ การสร้างทักษะและความชำนาญ โอกาสในการสร้างอาชีพงานที่ก้าวหน้า การสร้างทักษะความเป็นผู้บริหารหรือผู้นำ การเสนอรายได้ที่จูงใจคนให้มานะพยายามในการทำงาน ฯลฯ
นอกจากนั้น ธุรกิจขนาดย่อมควรดำเนินงานอยู่ภายในกรอบของขนบธรรมเนียมประเพณีและศิลธรรมอันดีงาม โดยมีจริยธรรมทางธุรกิจเป็นพื้นฐานด้วย
13. แผนงานการเงิน
เมื่อมีการกำหนดแผนการตลาด แผนการบริหารจัดการ และแผนการผลิตได้แล้ว ที่สำคัญที่สุดคือต้องมีแผนการเงินมารองรับ เนื่องจากในทุกกิจกรรมต้องใช้เงินทั้งนั้น ในท้ายที่สุดของแผนธุรกิจจะต้องมีแผนการเงินที่ดี โดยทั่วไปจะมีส่วนประกอบที่สำคัญ ดังนี้
สมมุติฐานทางการเงิน
เป็นการกำหนดปัจจัยหลัก ๆของการดำเนินงานเพื่อประมาณการทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยทั่วไปมีดังนี้
1. ยอดขาย เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่มาจากแผนการตลาดที่วางไว้
2. ต้นทุนขาย ควรจะมาจากแผนการผลิตที่วางไว้
3. ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารมาจากแผนบุคลากร และกิจกรรมพัฒนาและส่งเสริมการขายต่าง ๆ
4. ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย ประเมินจากอัตราดอกเบี้ย และวงเงินกู้เดิมกับวงเงินกู้ที่จะขอเพิ่มมาใหม่
5. สินทรัพย์และค่าเสื่อม มาจากประมาณการที่จะลงทุนในอนาคต เพื่อขยายกิจการและวิธีการคิดค่าเสื่อม
6. สินค้าคงคลัง ประมาณการระดับสินค้าคงคลังที่เหมาะสม
7. ลูกหนี้การค้า ประมาณการระยะเวลาระหว่างการขายสินค้า และการเก็บเงินได้จากการขาย
8. เจ้าหนี้การค้า ประมาณการระยะเวลาสั่งซื้อของ และจ่ายเงินให้เจ้าหนี้
ประมาณการทางการเงิน เป็นการประมาณการงบการเงินและการวิเคราะห์อัตราส่วนตามสมมุติฐานที่วางไว้ ประกอบไปด้วย
งบกำไรขาดทุน คือ งบที่แสดงถึงผลการดำเนินงานของบริษัทตลอดงวดระยะเวลาบัญชโดยทั่วไป จะกำหนดให้เป็นรอบ 1 ปี หรือราย 6 เดือน งบกำไรขาดทุน ประกอบด้วย รายการหลัก 3 รายการ คือ
1) ยอดขายหรือรายได้
2) ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ หรือต้นทุน
3) ผลต่างของตัวเลขดังกล่าว ซึ่งก็คือ กำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ
งบดุล คือ งบที่แสดงถึงฐานะการเงิน ภาระผูกพันในการชำระหนี้ และจำนวนทุนของบริษัท ณ วันใดวันหนึ่งเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น ณ วันสิ้นงวดของรอบระยะเวลาบัญชี งบดุลประกอบด้วยรายการหลัก ๆ 3 รายการ คือ สินทรัพย์ หนี้สิน และทุน หรือส่วนของเจ้าของงบกระแสเงินสด (Cash Flow) คือ งบแสดงการเคลื่อนไหวของเงินสด โดยจะแสดงถึงรายการได้มาและ
ใช้ไปของเงินสดหรือสิ่งที่เทียบเท่าเงินสดใน 3 กิจกรรมหลัก ๆ คือ-
- เงินสดที่ได้จากการดำเนินงาน
- จากการจัดหาเงินทุน
- จากการลงทุน
ดังนั้นความสามารถในการบริหารเงินสดของบริษัท และสภาพคล่องทางการเงิน จะดูได้จากงบกระแสเงินสด โดยงบกระแสเงินสดที่ดีควรเป็นเงินสดที่ไหลเข้ามาจากการลงทุนมากที่สุดรองลงมาจากการดำเนินงานและจากการจัดหาเงินทุนน้อยที่สุด งบกระแสเงินสดควรจะทำเป็นรายเดือน รายไตรมาส รายปี และอาจจะทำล่วงหน้าไปหลายปี ทั้งนี้แล้วแต่ความเหมาะสมของกิจการเพื่อที่จะทำให้รู้ถึงสถานะปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคตของกิจการนั้น ๆ
การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน แบ่งออกได้เป็น 4 ส่วนหลัก ดังนี้
1. สภาพคล่อง
1.1 อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน (Current Ratio)
= สินทรัพย์หมุนเวียน /หนี้สินหมุนเวียน
1.2 อัตราส่วนสินทรัพย์คล่องตัว (Quick Ratio)
= สินทรัพย์หมุนเวียน – สินค้าคงเหลือ /หนี้สินหมุนเวียน
2. ประสิทธิภาพในการใช้สินทรัพย์
2.1 อัตราหมุนเวียนของลูกหนี้ (Receivable Turnover)
= ขายเชื่อสุทธิ /ลูกหนี้เฉลี่ย
2.2 อัตราหมุนเวียนของสินค้า (Inventory Turnover)
= ต้นทุนสินค้าขาย /สินค้าคงเหลือเฉลี่ย
2.3 ระยะเวลาเรียกเก็บหนี้ (Receivable Turnover Period)
= 365 x ลูกหนี้ /ยอดขาย
2.4 ระยะเวลาสินค้าคงเหลือ (Inventory Turnover Period)
= 365 x สินค้าคงเหลือ /ต้นทุนขาย
3. ความสามารถในการบริหารงาน
3.1 อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ทั้งหมด (Return On Assets : ROA )
= กำไรสุทธิ x 100 /สินทรัพย์ทั้งหมด
3.2 อัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น (Return On Equity : ROE)
= กำไรสุทธิ x 100 /ส่วนของผู้ถือหุ้นทั้งหมด
3.3 อัตรากำไรจากการดำเนินงาน (Operating Income Margin)
= กำไรจากการดำเนินงาน x 100 /ยอดขาย
3.4 อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin)
= กำไรขั้นต้น x 100 /ยอดขาย
4. ความสามารถในการชำระหนี้
4.1 อัตราส่วนแห่งหนี้ (Debt Ratio)
= หนี้สินรวม /สินทรัพย์รวม
4.2 อัตราส่วนแหล่งเงินทุน (Debt to Equity Ratio)
= หนี้สินทั้งหมด /ส่วนของผู้ถือหุ้น
4.3 อัตราส่วนความสามารถจ่ายดอกเบี้ย (Interest Coverage Ratio)
= กำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษี /ดอกเบี้ยจ่าย
การประเมิณสถาณการณ์จำลอง
เมื่อจัดทำงบประมาณทางการเงินแล้ว ลำดับต่อไปจะทำการประเมินสถานการณ์จำลองเป็นการ
วิเคราะห์ความไวต่อสถานการณ์เมื่อเกิดมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นในอนาคต จะขอยกตัวอย่างการประเมิน
สถานการณ์อยู่ 3 ลักษณะ ดังนี้
กรณีที่ดี เช่น ยอดขายเพิ่ม 20 % ค่าใช้จ่ายลด 20 %
กรณีปกติ เช่น ยอดขายเพิ่ม 10 % ค่าใช้จ่ายลด 10 %
กรณีแย่ เช่น ยอดขายลด 20 % ค่าใช้จ่ายเพิ่ม 20 %
ซึ่งทำให้ทราบถึงผลกระทบของตัวแปรที่เปลี่ยนแปลงไปว่าจะมีผลต่อโครงการอย่างไร เช่น จะเกิดอะไรขึ้นถ้ายอดขายลด 20% และค่าใช้จ่ายเพิ่ม 20%
การวิเคราะห์ระยะเวลาคืนทุน บอกถึงสภาพคล่องของโครงการ หมายถึง ระยะเวลาทั้งหมดที่จะต้องใช้ไปในการที่จะเปลี่ยนสินทรัพย์ที่ลงทุนไปนั้นกลับมาเป็นเงินสดอีกครั้งหนึ่ง ระยะเวลาคืนทุนที่สั้นกว่าจะบอกถึงสภาพคล่องที่ดีกว่า และมีความเสี่ยงที่ต่ำกว่า แต่อย่างไรก็ตามเกณฑ์ระยะเวลาคืนทุนนี้ มีจุดอ่อนอยู่ที่การไม่คำนึงถึงค่าของเงินตามเวลาหรือกระแสเงินที่เกิดขึ้นต่างเวลากัน เกณฑ์นี้นำมารวมกันที่หาระยะเวลาคืนทุนโดยทันที และการไม่นำกระแสเงินสดทุกจำนวนที่เกิดจากโครงการมาพิจารณาความเป็นไปได้ของโครงการ จะพิจารณาเฉพาะกระแสเงินสดที่จำเป็นสำหรับการได้คืนทุนเท่านั้น รวมทั้งเกณฑ์นี้จะไม่เป็นธรรมสำหรับโครงการระยะยาวที่มีผลกำไรหลายปี ในอนาคตจะให้น้ำหนักความสำคัญเป็นพิเศษกับโครงการระยะสั้นเป็นหลัก
ระยะเวลาคืนทุน หมายถึง ระยะเวลาทั้งหมดที่โครงการจะให้กระแสเงินสดสุทธิรวมเท่ากับเงินลงทุนที่จ่ายเริ่มแรกพอดี
การวิเคราะห์จุดคุ้มทุน
การเริ่มต้นธุรกิจใหม่จะต้องทำการวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ในการลงทุน โดยการคำนวณหาจุดคุ้มทุนของธุรกิจก่อน ซึ่งการวิเคราะห์จุดคุ้มทุนส่วนใหญ่จะใช้กำไรส่วนเกินเป็นหลักในการวิเคราะห์โดยพิจารณาจำนวนสินค้าที่ขายเป็นจำนวนเท่าใด จึงจะมีรายได้เท่ากับค่าใช้จ่าย
จำนวนหน่วยขาย ณ จุดคุ้มทุน
= ต้นทุนคงที่ / ราคาขายต่อหน่วย X  ต้นทุนผันแปรต่อหน่วย
หมายเหตุ
ต้นทุนผันแปร หมายถึง ต้นทุนรวมที่ผันแปรตามจำนวนหน่วยที่ผลิตหรือขายได้
ต้นทุนคงที่ หมายถึง ต้นทุนรวมที่ไม่เปลี่ยนแปลงตามจำนวนหน่วยที่ผลิตในระหว่างช่วงการผลิตหรือช่วงการขายช่วงหนึ่ง
การวิเคราะห์มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) เป็นการประเมินโดยการนำความสำคัญของค่าของเงินตามเวลาเข้ามาคิดด้วย วิธีการนี้จะหามูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดรับที่เกิดจากโครงการในแต่ละงวดมารวมกัน แล้วเปรียบเทียบกับมูลค่าปัจจุบันของเงินลงทุนโดยกำหนดอัตราส่วนลดหรือผลตอบแทนที่ต้องการ หากมีค่าเท่ากันหรือมูลค่าปัจจุบันสุทธิเป็นศูนย์ แสดงว่าโครงการนั้นคุ้มทุนพอดี หากมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดเข้ารวมกัน มีมากกว่ามูลค่าปัจจุบันของเงินลงทุน ถือว่าโครงการนั้นให้ผลตอบแทนสูงกว่าที่เราต้องการหรือคาดหวังไว้ ควรจะลงทุนในโครงการนั้น หากไม่แล้ว ก็ควรปฏิเสธไม่ลงทุนในโครงการนั้น
มูลค่าปัจจุบันสุทธิ = มูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดรับ  - มูลค่าปัจจุบันของเงินสดจ่าย
การวิเคราะห์อัตราผลตอบแทนของการลงทุน (Internal Rate of Return – IRR)
เป็นอัตราส่วนลด/หรืออัตราดอกเบี้ยที่ทำให้มูลค่าปัจจุบันของเงินสดที่คาดว่าจะต้องจ่ายออกไปเท่ากับ
มูลค่าปัจจุบันของเงินสดที่คาดว่าจะได้รับเข้ามาตลอดอายุของโครงการ หรือคือการหาส่วนลดหรืออัตราดอกเบี้ยที่ทำ
ให้มูลค่าปัจจุบันสุทธิ NPV (Net Present Value) เท่ากับ 0
อัตราผลตอบแทนที่ได้จากโครงการ : เป็นอัตราผลตอบแทนที่ทำให้มูลค่าปัจจุบันสุทธิของโครงการ = 0
14. ภาคผนวก
เป็นการรวบรวมข้อมูลหรือเอกสารที่มีรายละเอียดค่อนข้างมาก ถ้าใส่ในแผนงานธุรกิจจะทำให้ผู้อ่านสับสนและเบื่อหน่าย จึงควรนำมาใส่ไว้ในภาคผนวก เช่นรายละเอียดของผลการตรวจวิจัยเพื่อขออนุมัติจากหน่วยราชการเป็นต้น

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น